ที่มาและความเป็นมา

หลักการและเหตุผล
         การพัฒนาพื้นที่ด้วยการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและชุมชน เป็นหนึ่งในทิศทางหลักที่สำคัญต่อการปฏิรูปประเทศ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนในการพัฒนาบ้านเกิด ตามบริบทและความต้องการของชุมชน โดยหลักคิดสำคัญในการพัฒนาชุมชนที่ประชาชนคนไทยเทิดทูลไว้เหนือเกล้า ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระชาชดำริว่า “ระเบิดจากข้างใน” หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัว หรือตั้งตัว อย่าให้โดยที่ผู้รับยังไม่พร้อมที่จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามหลักสากล ที่มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข และเพื่อเป็นการเสริมแนวคิด “ไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยเป้าหมายทั้งหมด 17 ข้อ ประกอบไปด้วย 1) ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ 2) ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 3 ) สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย 4 ) สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 5) บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง 6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืนคน 7) สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา 8) ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน 9) สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม 10) ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ 11 ) ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน 12) สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13 ) ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น 14) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 15 ) ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 16) ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ และ 17 ) เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อนั้น เน้นการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive) มุ่งการเปลี่ยนแปลง (Transformative) และบูรณาการ (Integrated) ที่ทุกประเทศต่างมีโจทย์ที่จะต้องนำไปปฏิบัติไม่ใช่เฉพาะแค่ประเทศยากจน (Universal) ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้เป็นการพัฒนาที่ใช้ร่วมกันในทุกระดับ ทั้งระดับโลกไปจนถึงระดับท้องถิ่น เอื้อให้ทุกพื้นที่ในโลกสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้
         การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยประสานองค์ความรู้ด้านวิชาการ การวิจัย ร่วมกับความสามารถและความต้องการของชุมชนตามบริบทของพื้นที่ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและชุมชน การส่งเสริมการศึกษา การรักษาวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อม อันจะนำพาคนในชุมชนและประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักต่าง ๆ อาทิ ประเทศรายได้ปานกลาง กับดักแห่งความเหลื่อมล้ำ กับดักทางสังคม และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้การวิจัยและนวัตกรรมช่วยให้ ชุมชนและสังคม มีศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ ลักษณะทางด้านกายภาพของโลก ด้านรูปแบบการทำธุรกิจ และ ด้านการสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น อีกทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับชุมชน สู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน และพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) และเป้าหมายประเทศไทย ๔.๐
         มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความโดดเด่นและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มายาวนาน ตามคำนิยม ที่กล่าวว่า N E U (ดี เก่ง มีจิตสาธารณะ) N : Nurturing Merit Principles (ดี) ความมีคุณธรรม E : Excellence (เก่ง) ความเป็นเลิศในการผลิตบัณฑิต วิชาการ วิจัย และศิลปวัฒนธรรม และ U : United Publicness (จิตสาธารณะ) ความมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม และเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน ซึ่งในปี 2566 นี้ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับความร่วมมือกับสถาบันเจ้าภาพร่วม ในการประชุมวิชาการและการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 10 และระดับนานาชาติ ครั้งที่ 8 ขึ้น ภายใต้ชื่อเรื่อง “การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน” เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ และเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัย ระหว่างนักศึกษา อาจารย์นักวิจัย และนักวิชาการ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการร่วมกัน มุ่งสู่การสร้างองค์ความรู้และการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างให้เกิดชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์
    1 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนในระดับชาติและนานาชาติ
    2 เพื่อเป็นเวทีให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่สาธารณชนและการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างผู้ทำวิจัยและผู้สนใจทั่วไปในระดับชาติและนานาชาติ